บ้านประหยัดพลังงาน กับภาวะโลกร้อน
ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรากำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนกันอยู่ สังเกตุได้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ค่อยจะเป็นไปตามฤดูกาลเท่าใดนัก และภัยภิบัติทางธรรมชาติก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุที่ทำให้เราทุกคนต้องเริ่มที่จะตระหนักถึงคุณค่าทางธรรมชาติกันอย่างมากและจริงๆจังๆได้แล้วก่อนที่ทุกอย่างจะสายจนเกินไป อย่างน้อยก็เป็นที่น่าปลื้มใจอยู่ไม่น้อยที่มีหลายๆหน่อยงานได้ตระหนักถึงเรื่องนี้และมี campaign ต่างๆมาช่วยกระตุ้นจิตสำนึกกันทางด้านนี้ และวันนี้เองทาง weneedhome.com ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องนี้ที่จะนำเสนอบ้านประหยัดพลังงาน หรือแนวทางการแต่งบ้านให้ประหยัดพลังงานกัน ซึ่งจะทำให้บ้านของราเป็นบ้านที่เย็นสบายน่าอยู่ และที่สำคัญทุกๆสิ้นเดือนคุณๆจะยิ้มแฉ่งกันเมื่อเห็นบิลค่าไฟฟ้าที่พบได้ลดฮวบลงอย่างน่าตกใจกันเลยทีเดียว
โดยเป็นบ้านที่เน้นการออกแบบให้บ้านมีความเย็นและอยู่สบายโดยวิถีทางธรรมชาติ (Passive Cooling) เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็ยอมรับเรื่องการออกแบบ และมีการเตรียมการสำหรับการทำให้เกิดความเย็นด้วยวิธีกลไกและพึ่งพาเทคโนโลยี (Active Cooling) อันสอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพื่อเป็นส่วนประกอบลักษณะผสมผสานกันโดยก่อให้เกิดทางเลือกในการประหยัดพลังงานต่อภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศในบ้านพักอาศัย โดยอย่างน้อยที่สุดให้มีการลดชั่วโมงของการทำงานในส่วนเครื่องปรับอากาศลง ซึ่งวิธีการที่มุ่งเน้น คือ การออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร
แนวความคิดและหลักการออกแบบ
แนวความคิดและหลักการออกแบบบ้านอยู่สบายประหยัดพลังงานทั้ง 3 รูปแบบนั้น เป็นการประยุกต์วิธีการประหยัดพลังงานผ่านแนวความคิดในการออกแบบไปสู่กระบวนการออกแบบทางสถาปัตยกรรม โดยมีผลปรากฏเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถสรุปผลการออกแบบได้ตามปัจจัยที่ต้องคำนึงด้านการประหยัดพลังงาน ได้ดังนี้ คือ
1. การจัดวางตำแหน่งพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมในที่ดินขนาดเล็ก และคำนึงถึงการได้รับประโยชน์จากการระบายอากาศตามธรรมชาติ
2. การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมเพื่อลดการนำความร้อน โดยพิจารณาเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างกันในส่วนของพื้นที่ที่ปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ
3. การออกแบบรั้วโปร่งเพื่อการระบายอากาศที่ดีและการจัดเตรียมที่เก็บขยะที่ถูกสุขลักษณะ
4. การออกแบบโดยใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อม
5. การป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร
6. การออกแบบให้มีช่องระบายความร้อนใต้หลังคา
7. ระบบไฟฟ้าและแสงสว่างสำหรับอาคาร ซึ่งนอกจากการใช้หลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่จะช่วยลดการใช้พลังงานในอาคารและสร้างความอยู่สบายแล้วนั้น การเลือกใช้วัสดุที่เป็นฉนวนให้กับอาคาร การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟเบอร์ 5 หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง เช่น หลอดประหยัดไฟประเภทหลอดฟลูออเรสเซนต์ หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ และบัลลาสต์กำลังสูญเสียต่ำ (Low Loss Ballast) สามารถช่วยให้บ้านอยู่สบายประหยัดพลังงานทั้ง 3 รูปแบบ มีค่าไฟฟ้าลดลงได้ประมาณ 5,000-9,350 บาท/ ปี/ หลัง
นอกจากนี้ยังได้มีการเตรียมการในเรื่องความปลอดภัย ได้แก่ การกำหนดให้มีการติดตั้งตำแหน่งไฟฟ้าส่องสว่างที่รั้วบ้านในยามค่ำคืน รวมไปถึงการติดตั้งไฟฟ้าฉุกเฉินเผื่อกรณีไฟฟ้าเกิดดับกระทันหัน
ขอขอบคุณที่มาของแหล่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์จาก สำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(สสอ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
เรียบเรียงโดย : weneedhome.com The expert
|